เริ่มต้นออกแบบ UX และ UI แบบง่ายๆ
ปัจจุบันนี้ UX และ UI เริ่มเป็นที่รู้จักกันเพิ่มมากขึ้น แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่ายังเป็นที่รู้จักกันแค่ในวงการของนักพัฒนาเท่านั้นเลย วันนี้เราเลยอยากจะขอเริ่มอธิบายถึงความแตกต่างระหว่าง UX และ UI แล้วตามด้วยวิธีเริ่มต้นออกแบบ UX/UI ง่ายๆ เพียงคุณเข้าใจ 4 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้?
เนื่องจากหลายๆ คนมักจะคิดว่า UX และ UI นั้นคือของคู่กัน คนที่ทำ UX ได้นั้นจะต้องทำ UI ได้ด้วย แต่จริงๆ แล้ว UX (User Experience) และ UI (User Interface) ฟังแค่ชื่อก็มีความต่างกันพอสมควรแล้ว แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือเราต้องทำงานร่วมกับ "ผู้ใช้งาน" ที่เข้ามาใช้งานเว็บไซต์หรือผลิตภัณฑ์ของเรานั่นเอง
ความแตกต่างและขั้นตอนการเริ่มต้นออกแบบ UX/UI ?
ก่อนที่จะไปเริ่ม 4 ขั้นตอนของการออกแบบ UX/UI เราไปทำความเข้าใจกันก่อนดีกว่าว่าแท้จริงแล้ว UX และ UI มันคืออะไรกันแน่ และมีความแตกต่างกันอย่างไร?
UX = ให้ความสำคัญกับอารมณ์และความรู้สึกของผู้ใช้
UI = ให้ความสำคัญกับความสวยงาม การติดต่อกับผู้ใช้ และข้อมูลทางด้านเทคนิคอื่นๆ มองง่ายๆ ก็คือ ส่วนที่ผู้ใช้มองเห็นและกระทำการบางอย่างกับมัน (interface และ interact)
หากเราอยากจะออกแบบเว็บไซต์ (Design Web) เช่น การออกแบบลวดลาย, การเลือกสีของตัวอักษร, ขนาดของตัวอักษร, Background, Mood&Tone ของเว็บไซต์, ธีมที่ใช้ หรือแม้แต่การใช้เว็บไซต์ที่มีชื่อเสียงเป็นตัวอย่างในการออกแบบความสวยงามให้เหมาะสม ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่จัดว่าเป็น UI
ส่วนการที่ต้องมีฟังก์ชันพื้นฐานในการใช้เว็บไซต์ เช่น การแบ่งหมวดหมู่ของเนื้อหา, ช่องทางการติดต่อ, การเชื่อมต่อ User กับแพลตฟอร์มที่สะดวก, ฟังก์ชันการค้นหาที่มีคุณภาพ ฯลฯ แม้แต่การเพิ่มฟังก์ชันที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้เฉพาะกลุ่ม ทุกสิ่งที่กล่าวมาล้วนเรียกว่า UX
ตอนนี้เราก็ได้รู้ถึงความต่างระหว่าง UX และ UI กันแล้ว งั้นเรามาเริ่ม 4 ขั้นตอนของการออกแบบ UX/UI กันเลยดีกว่าค่ะ
1. Concept is! important
อันดับแรกคอนเซ็ปต์เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เราควรคุยหรือระดมความคิดกันภายในทีม ตั้งแต่ผู้บริหารไปจนถึงดีไซเนอร์ นักพัฒนา มาร์เก็ตติ้ง หรือทีมไหนที่มีหน้าที่อื่นๆ อีกก็สามารถเอาเข้าร่วมประชุมด้วยได้ (ถ้าผู้บริหารมาไม่ได้ ก็เอาคนที่สามารถตัดสินใจแทนได้เข้ามาประชุมด้วย) เอาให้แน่ใจว่าจะทำอะไร ทำไปทำไม ทำเพื่อใคร ทำอย่างไร ในส่วนตรงนี้ต้องให้เข้าใจตรงกันทุกคน ถ้าหากขั้นตอนนี้มีใครคนใดคนนึงในทีมไม่เห็นด้วย หรือคิดว่ามันอาจจะมีทางที่เวิร์คสำหรับ Products มากกว่านี้ ก็สามารถแสดงความคิดเห็นและร่วมกันหาทางออกได้
ในส่วนนี้จะเป็นหน้าที่ของ UX ที่จะเข้ามาช่วยนำทีมและวางแผน ไม่ว่าจะเป็นการทำ emphaty map และ define กัน ถ้าตรงนี้ไม่เคลียร์ก็ไปขั้นตอนอื่นยากหน่อย หรือไม่ก็กำลังจะทำเสร็จแล้วมารู้ตัวอีกทีว่าคอนเซ็ปต์ยังไม่นิ่ง ก็อาจจะได้กลับมาแก้ตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นควรทำเต็มที่กับขั้นตอนนี้ไปเลย แต่ข้อดีของการทำ UX คือถึงแม้เราจะต้องกลับมาแก้ใหม่จริงๆ ก็จะเสียเงินกับการลงทุนใน Products เวลาที่ใช้ทำ และพลังงานของคนในทีมไม่เยอะมาก เมื่อต้องเทียบกับการไม่ทำเลย
2. Functional
ถ้า Products เป็นแอปหรือเว็บไซต์ ขั้นตอนนี้ก็คือการคิดฟีเจอร์นั่นแหละ จากประสบการณ์ขั้นตอนนี้ใช้เวลามากที่สุด เนื่องจากเรามักจะตัดสินใจกันไม่ได้ เพราะแต่ละฟีเจอร์ก็มีคุณค่าที่ไม่เหมือนกัน อันนี้ก็ทำเงินได้ อันนี้ก็ทำให้นำหน้าคู่แข่งหรือเทียบเท่า และอีกร้อยแปดเงื่อนไขที่ถาโถมประดังกันเข้ามา ดังนั้นวิธีแก้ไขปัญหาของขั้นตอนนี้ ก็คือ ทำการทดสอบฟีเจอร์ โดยการ checklist feature ที่เราอยากจะทำ โดยแบ่ง ดังนี้
- ฟีเจอร์ที่สำคัญสำหรับผู้ใช้ คือ ถ้าไม่มีมันชีวิตก็จะลำบาก
- ฟีเจอร์ที่ทำให้ผู้ใช้พึงพอใจ (ราคาหรือการใช้งาน เป็นต้น)
วิธีนี้จะช่วยให้เรารู้ว่าเราควรจะทำอะไรก่อนหรือหลัง ซึ่งจะช่วยให้เราเรียงลำดับความสำคัญได้ง่ายขึ้น และส่วนตัวเชื่อว่าการทำฟีเจอร์ที่สำคัญสำหรับผู้ใช้ก่อนนั้นเป็นอะไรที่เริ่มต้นได้ดี ถ้าจะบอกว่า "มันเป็นของที่มีคนทำแล้ว ไม่ใช่ของใหม่ ผู้ใช้อาจจะไม่สนใจแล้ว อย่าทำเลย" ตรงนี้กลับคิดต่างเลยว่ายิ่งมีคู่แข่ง ยิ่งดี เพราะต้องมีการรีเสิร์ชมาแล้วว่าเวิร์ค เมื่อเขายังทำได้นั่นแสดงว่ามันยังเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่ เราแค่ต้องรู้ว่าอะไรคือจุดเด่นหรือจุดด้อย จากนั้นนำมาปรับใช้กับ Products ของเรา
3. Usability
ตรงนี้ก็ยังคงเป็นหน้าที่ของ UX ที่จะต้องทำ wireframe และ interaction design เพื่อให้เกิดความใกล้เคียงกับแอปจริงมากที่สุดว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเข้าเมนูนี้ คลิกที่ปุ่มนี้ หรือแม้กระทั่งการปัดหน้าจอของแอป เป็นต้น
ทั้งนี้จุดประสงค์ของการทำ usability คือ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจภายในทีม และที่สำคัญคือต้องนำไปทดสอบการใช้งานและสังเกตความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมายจริงในขณะทดลองใช้งานด้วย เพื่อให้ได้รู้ถึงความต้องการที่แท้จริง ข้อดีของการทำ usability ก่อนนำไปพัฒนาจริงคือเวลาที่มีจุดไหนของ Products ของเราที่ยังไม่ถูกใจผู้ใช้ หรือผู้ใช้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ก็สามารถแก้ได้เลย และสามารถนำไปทดสอบใหม่ได้อีกครั้งแบบไม่เสียพลังงานของคนในทีมเยอะนัก
4. Visual Design
ตอนนี้ก็ถึงเวลาของ UI Designer, Graphic Designer, Copywriter ต่างๆ ออกโรงแล้วค่ะ หลังจากผ่าน process ที่ว่ามาทั้งหมด ก็ถึงขั้นตอนของการนำเอา wireframe และ interaction design จากทีม UX มาออกแบบหน้าตาให้สวยงาม เหมาะสม และใช้งานง่าย
สรุป
- UX และ UI ไม่ใช่หน้าที่เดียวกัน เป็นเพียงแค่หน้าที่ที่ต้องทำงานร่วมกัน
- Products ของเราจะต้องมีทั้งประโยชน์และความสวยงามให้กับผู้ใช้ เพราะฉะนั้น UX จะสร้างสิ่งที่มีประโยชน์ให้ ส่วน UI จะสร้างสิ่งที่สวยงามให้
- ขั้นตอนหลักๆ ของการออกแบบมี 4 ขั้นตอนที่ต้องทำ คือ
1. คิดและตกลงกันเรื่อง Concept ให้ดี
2. เรียง Feature ที่จำเป็นต้องทำตามลำดับ
3. ทำ Usability สำหรับทดสอบ เพื่อให้ได้รู้ถึงความต้องการที่ชัดเจนของผู้ใช้
4. ออกแบบ UI ให้สวยงามและใช้งานง่าย
สุดท้ายนี้ Advanced iService เรามีทีมงานมืออาชีพที่จะช่วยให้เว็บไซต์ของคุณมีการออกแบบเว็บไซต์ที่สวยงามและดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย รวมไปถึงมี Performance ที่ดีควบคู่ไปด้วยกัน ในการรับออกแบบเว็บไซต์ (Design Web) นั้น เราใช้หลักการในการทำงานอย่างเต็มที่ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพควบคู่ไปด้วยกัน จึงทำให้เราสามารถให้บริการรับออกแบบเว็บไซต์ที่มี UX และ UI ที่สวยงาม ใช้งานง่าย ใช้ได้จริง มีประสิทธิภาพ และในขณะเดียวกันก็มีราคาถูกอีกด้วย